ด้านพัสดุ

ด้านพัสดุ

1. การดำเนินงานตามการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปี มีประโยชน์อย่างไร

ตอบ เป็นการประเมินที่มีจุดมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ
โดยถือเป็นการประเมินที่ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ 
ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 
มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือและเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2564 โดยใช้แนวทางและเครื่องมือการประเมินตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด 

2.  การจัดหาพัสดุ กรณีวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท จะต้องทำขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะหรือไม่

ตอบ ตามข้อ 21 แห่งระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ต้องจัดทำ ยกเว้นการจัดหาตามระเบียบข้อ 79 วรรคสอง กรณีจำเป็นเร่งด่วนอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายไว้ก่อนได้และดำเนินการตามปกติไม่ทัน

3. การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทหน่วยงานต้องทำเป็นสัญญา หรือใบสั่งซื้อสั่งจ้างหรือบันทึกข้อตกลง และต้องมีหลักประกันสัญญาหรือไม่

ตอบ ตามมาตรา 96 (1) การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงตามมาตรา 56 (2) (ข) หน่วยงานของรัฐอาจจัดทำข้อตกลงเป็นหนังสือ โดยไม่ทำเป็นสัญญาก็ได้ ดังนั้นอยู่ที่ดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ที่จะเลือกทำเป็นสัญญาตามที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กำหนด หรือทำข้อตกลงเป็นหนังสือก็ได้ หากเลือกทำเป็นสัญญา ก็ต้องมีหลักประกันสัญญา ร้อยละ 5 ของวงเงินที่ทำสัญญาด้วย

4. การจัดทำแผนและการเผยแพร่แผนจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลางและของหน่วยงานรัฐ ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการตามมาตรา 11 และกรณีจัดหาวงเงินเกิน 500,000 บาท จะต้องดำเนินการและไม่ต้องดำเนินการกรณีใดบ้าง

ตอบ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 11 กำหนด ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี และประกาศเผยแพร่ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง และหน่วยงานของรัฐ ตามวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนดและให้ปิดประกาศโดยเปิดเผย ณ สถานที่ปิดประกาศ ของหน่วยงานของรัฐนั้น เว้นแต่
(1) วิธีคัดเลือก กรณีความจำเป็นเร่งด่วนใช้ในราชการลับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 56(1) (ค) หรือ (ฉ)
(2) วิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท กรณีฉุกเฉินเนื่องจากอุบัติภัยหรือธรรมชาติพิบัติภัยและเป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาด ทั้งนี้ ตามมาตรา 56(2) (ข) (ง) หรือ(ฉ)
(3) จ้างที่ปรึกษา กรณีวงเงินตามกฎกระทรวง หรือจำเป็นเร่งด่วนเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้ ตามมาตรา 70 (3) (ข) หรือ (ฉ)
(4) จ้างออกแบบและควบคุมงาน กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ตามมาตรา 82 (3)

5. แบตเตอรี่รถยนต์ ยางรถยนต์ สามารถนำไปเป็นส่วนลดในการซื้อแบตเตอรี่ หรือยางใหม่ได้หรือไม่

ตอบ กรณีแบตเตอรี่และยางรถยนต์  จะนำไปเป็นส่วนลดไม่ได้เพราะระเบียบพัสดุ ไม่ได้กำหนดให้นำพัสดุไปเป็นส่วนลดในการจัดซื้อ แต่สามารถจำหน่ายได้โดยการขายตามระเบียบพัสดุ

6. การรับบริจาคครุภัณฑ์จากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก มีขั้นตอนอย่างไร

ตอบ ขั้นตอนการรับบริจาคครุภัณฑ์จากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก เมื่อได้รับหนังสือบริจาคสินทรัพย์จากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก ให้หน่วยงานผู้รับโอนสินทรัพย์ส่งหนังสือไปยังอธิการบดีหรืออธิการบดีมอบหมาย พร้อมเสนอเรื่องขอแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุทำหน้าที่ตามระเบียบแนวปฏิบัติในการรับบริจาคพัสดุ ดังนี้
1. ตรวจรับพัสดุที่ได้รับบริจาค พิจารณาสภาพ มูลค่า และภาระผูกพันในการรับมอบ แล้วเสนอรายงานผลการตรวจรับพัสดุต่ออธิการบดีหรืออธิการบดีมอบหมาย เมื่อได้รับการอนุมัติให้รับบริจาคสินทรัพย์ได้
2. หน่วยงานที่รับบริจาคขึ้นทะเบียนครุภัณฑ์ และแจ้งผลการขึ้นทะเบียนให้ฝ่ายการคลังและทรัพย์สินทราบ โดยใช้วันที่ได้รับอนุมัติเป็นวันที่ขึ้นทะเบียนครุภัณฑ์
3. หน่วยงานเลือกชื่อบัญชีขั้นตอนขึ้นทะเบียนครุภัณฑ์เป็น "รายได้จากสินทรัพย์จากการบริจาครอการรับรู้"

7. มีหลักในการพิจารณารายการวัสดุว่าเป็นประเภทเข้า stock หรือวัสดุไม่เข้า stock อย่างไร

ตอบ การเลือกวัสดุเข้า stock และไม่เข้า stock พิจารณาโดยใช้หลักระยะเวลาการใช้งาน แยกเป็นดังนี้ 
   1. วัสดุเข้า stock  กรณีที่หน่วยงานวางแผนการใช้งานวัสดุโดยมีระยะเวลากำหนด เช่น วางแผนการซื้อหมึกเครื่องพิมพ์ ในระยะเวลา 3 เดือน จำนวน 2 หลอด ให้หน่วยงานเลือกเป็นวัสดุเข้า stock และตัดจ่ายวัสดุตามระยะเวลาการเบิกใช้จริง
   2. วัสดุไม่เข้า stock  หากหน่วยงานซื้อวัสดุเพื่อใช้งานในคราวเดียว โดยไม่คงเหลือเก็บเข้า stock 

8. หากเจ้าหน้าที่พัสดุหน่วยงานต้องการทราบว่าครุภัณฑ์ที่จัดหามาได้เป็นประเภท หรือชนิดใด เพื่อนำข้อมูลใช้ในการขึ้นทะเบียนครุภัณฑ์ มีขั้นตอนอย่างไร

ตอบ เจ้าหน้าที่พัสดุหน่วยงานสามารถค้นหาข้อมูลได้ในหน้า log in ระบบสารสนเทศบัญชีสามมิติ โดยขั้นตอน ดังนี้
1. เลือกเมนู "ตรวจสอบรายการทรัพย์สิน (วัสดุ ครุภัณฑ์ ค่าใช้จ่าย)
2. กดเลือกที่ link http://acct3d.tsu.ac.th/ACCT3D/_TSU/MATASS/MATASS.aspx
3 กรอกชื่อครุภัณฑ์ที่ต้องการทราบประเภทหรือชนิด รายงานจะแสดงผลข้อมูลเพื่อนำไปใช้ขึ้นทะเบียนครุภัณฑ์